หอมจังสปา
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

สปากับการนวดแผนไทย

    สปา ดั้งเดิมหมายถึง "สถานที่ที่มีน้ำ" ซึ่งหมายถึงน้ำแร่หรือบ่อน้ำพุร้อน ที่มีสรรพคุณพิเศษต่อร่างกาย
คำว่า "สปา" มาจากชื่อเมืองในประเทศเบลเยี่ยม หรือ "The water city" เมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่อง การให้บริการอาบน้ำแร่มาตั้งแต่สมัยโรมัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเรียกชื่อสั้นๆ ว่า Spa เมืองสปามีชื่อเสียงโดดเด่น จนมีการนำคำว่า "Spa" มาใช้เป็นคำในภาษาอังกฤษ โดยหมายถึงสถานที่สำหรับฟื้นฟูและพักผ่อนหย่อนใจ แต่บางแหล่งระบุว่า spa เป็นคำย่อของตัวอักษรแรกที่มาจากภาษาละติน "Sanitas per aquas" ที่แปลว่า "Health through water" หรือ "การใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อฟื้นสุขภาพ"
 
    สำหรับประเทศไทยมีจุดเด่นในการบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติโดยเฉพาะการนวดมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงถูกขุดพบที่ป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย เมื่อถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  การแพทย์แผนไทยรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวดไทย ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการแบ่งส่วนราชการด้านการแพทย์ให้กรมหมอนวด ศาสตร์การนวดไทยบางส่วนได้สูญหายไปจากการเกิดภาวะสงครามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนครบ 80 ท่า และจารึกสรรพวิชาการนวดไทย ลงบนแผ่นหินอ่อน 60 ภาพแสดงถึงจุดนวดอย่างละเอียดประดับบนผนังศาลารายและบนเสาภายในวัดโพธิ์ วิวัฒนาการของการนวดไทยจึงได้ถูกสืบทอดต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน การนวดแผนไทยได้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะได้รับบริการนวดไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนวดแบบราชสำนัก หรือ นวดแบบเชลยศักดิ์ ด้วยความโดดเด่นของศิลปะการนวดแบบไทยเป็นที่นิยมกลุ่มชาวต่างประเทศ จึงเกิดการผสมผสานการนวดแผนไทยเข้ากับธุรกิจสปา ให้เป็นการจัดรูปแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเรียกว่า ไทยสปา (Thai Spa)
 
       ประเภทของสปา     

       1. สปาแบบตะวันตก (Western Spa)
เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพด้วยน้ำเป็นหลัก  โดยมีมาตรฐานการให้บริการแนวเดียวกับประเทศตะวันตก  ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนำเข้าโดยผู้ให้บริการต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือให้ถูกต้องและให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้รับบริการ

      2. สปาแบบประยุกต์  (ไทยสปา) คือ  เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพที่ใช้น้ำเป็นหลัก  มีมาตรฐานการให้บริการแนวเดียวกับประเทศตะวันตก  แต่มีการประยุกต์ภูมิปัญญาทางตะวันออกและภูมิปัญญาไทยเข้าสู่การบริการในสถานที่เดียวกันผสมผสานระหว่างสปาแบบตะวันตกคือการประยุกต์ใช้เครื่องมือเข้ากับภูมิปัญญาของไทยและเรียกเป็นคำเฉพาะว่า ไทยสปา

      3. สปาแบบไทยแท้  (ไทยสัปปายะ) เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพองค์รวมแบบไทย  เน้นการอบสมุนไพร  การใช้ลูกประคบ  และการนวดไทย  คำว่า "สบาย"  มาจากคำภาษาบาลีว่า สัปปายะ  ซึ่งแปลว่า  สถานหรือบุคคลซึ่งเป็นที่สหายเหมาะกัน  เกื้อกูลหรือเอื้ออำนวย  โดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคอง  รักษาสมาธิ  เป็นของสปาแบบไทยที่เชื่อมโยงมาจากภูมิปัญญาชุมชน อาจจัดบรรยากาศให้เป็นบ้าน เป็นสวน เรียกเสียใหม่ว่า ไทยสบาย                               

 

การนวดเพื่อสุขภาพ

    การนวดเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์เรารู้จักนำมาใช้ในการบำบัดรักษาอาการปวด  ต่อมาภายหลังพบว่าการนวดยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคอื่นบางโรคได้  เป็นการรักษาร่วม  ตลอดจนการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ Hippocrates ผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนใหม่ยังเห็นความสำคัญและกล่าวไว้ว่าแพทย์ทุกคนควรมีความรู้เรื่องการนวด การแพทย์ที่ผ่านมาเรายึดถือตะวันตกเป็นแม่แบบ ปัจจุบันกระแสนิยมไทยกำลังได้รับการส่งเสริม การนวดแผนไทยหรือนวดไทยแผนโบราณจึงได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาเป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและต่างชาติ และยังเป็นที่นิยมอย่างมากในสปา ซึ่งสปาที่มีชื่อเสียงมักจะต้องมีบริการนวดอยู่ด้วยไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง และหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นนวดแผนไทย    

        การนวด (Massage) หมายถึง กระบวนการต่างๆ ที่กระทำโดยมือ บนเนื้อเยื่อด้านนอกของร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ กัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษา ประคับประคอง หรือสุขอนามัย

        การนวดไทยเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทยที่มีประวัติและเรื่องราวสืบทอดกันมาช้านาน มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยที่ดูแลและช่วยเหลือกันเองภายในครอบครัว เช่น สามีนวดให้ภรรยา ภรรยานวดให้สามี ลูกหลานนวดให้พ่อแม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย

       การนวดไทย หมายถึง การตรวจ การวินิจฉัยและการบำบัดโรคด้วยการกด คลึง บีบ ทุบ สับ ประคบ หรือวิธีการนวดอื่นใดตามแบบแผนของการประกอบโรคศิลปะ

 


    
การนวดแผนไทย 

    เป็นวิธีการดูแล  รักษาสุขภาพและรักษาโรคชนิดหนึ่งที่คนไทยใช้กันมาตคั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการที่คนไทยได้เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือตนเองและผู้ใกล้ชิด  เมื่อเกิดเจ็บป่วยด้วยการบีบนวด  การดัดตัวเอง  การนำวัสดุธรรมชาติใกล้ตัวมาเป็นอุปกรณ์ช่วย  เช่น  การนำกะลามะพร้าว  หรือไม้  มาช่วยกดคลึงเป็นต้น  นอกจากนั้นยังรู้จักนำพืช  ผัก  สัตว์  และแร่ธาตุต่างๆ  ที่มีอยู่ใกล้ตัวมาเป็นอาหารและยา
 

    การนวดตัว ไม่ใช่เพื่อการรักษาความเจ็บปวดเท่านั้น  แต่มีคุณค่าต่อสุขภาพ  เป็นกระบวนการดูแลรักษาโรค  โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีหลักการระหว่างผู้ให้การรักษา (นักหัตเวชบำบัด) กับผู้รับการนวด การนวด จะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ 

 

ประโยชน์ของการนวดตัว 

1.ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว  ลดอาการเกร็ง 

2.ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต  เลือดลมเดินได้อย่างสะดวก 

3.ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย  สบายกาย  สบายใจ  ลดความเครียด  ทำให้รู้สึกแจ่มใส  กระฉับกระเฉงขึ้น 

4.ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น 

 


 

การนวดฝ่าเท้า

    เท้า  นับว่าเป็นอวัยวะสำคัญเพราะเป็นที่รับน้ำหนัก  และรักษาสภาวะสมดุลของการทรงตัวในอิริยาบถต่างๆ ของร่างกาย  เท้าจึงมีโอกาสได้รับบาดเจ็บ  และมีอาการเมื่อยล้าเป็นธรรมดา  การนวดเท้าจึงเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตมีผลดีทั้งทางด้านสุขภาพจิต  และมีข้อมูบทางการแพทย์  ด้านการรักษาโรคด้วย

 

ประโยชน์ของการนวดฝ่าเท้า 

1.ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ เช่น การกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและน้ำเหลือง 

2.ช่วยป้องกันโรคบางอย่าง เช่น ท้องผูก หืด ปวดหัว ไต นิ่วในถุงน้ำดี ไมเกรน ไซนัส โรคเครียด และโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ

  

  


การนวดอโรมา  

การนวดอโรมา  เป็นการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการบำบัดด้วยการนวด  กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการลดความตึงเครียด  และทำให้เกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ  ซึ่งทางการแพทย์ยอมรับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอีกวิธีหนึ่งด้วย 

 

ประโยชน์ในการนวดอโรมา

1.ช่วยผ่อนคลาย  และลดความตึงเครียด 

2.กระตุ้นร่างกาย  และจิตใจให้กระปี้กระเปร่า 

3.ขจัดเซลล์ผิวหนังให้หลุดออก  และกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่

4.ปกป้องผิวให้นุ่มนวลชุ่มชื่น

- กลิ่นผ่อนคลาย (Massage Oil Beyond Paradise - Claming) กลิ่นเบาๆ เหมาะสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ หรือผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นฉุน
-
กลิ่นหอมเย็น (Massage Oil Across the Ocean - Passion) เป็นกลิ่นกลางๆ เหมาะสำหรับทุกคน
-
กลิ่นสดชื่น (Massage Oil Stairway to heaven - Energizing) เหมาะสำหรับคุณผู้ชาย หรือนักกีฬา
-
กลิ่นเพิ่มความสมดุล (Massage Oil for balancing – Anti-Cellulite) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการกระชับสัดส่วน  ลดเซลลูไลท์  ขจัดไขมันสะสม
-
กลิ่นโรแมนติก (Massage Oil Falling in love - Respiratory) หอม มีเสน่ห์ เย้ายวนใจ เหมาะสำหรับคุณผู้หญิง


 
การประคบสมุนไพร

การประคบสมุนไพร คือ  การนำเอาสมุนไพรทั้งสด  หรือแห้งหลายๆ ชนิด  เช่น ไฟล  ขมิ้นชัตน  ผิวมะกรูด  ตะไคร้บ้าน  ใบมะขาม  การบูร  พิเสน  นำมาโขลกพอแหลก  และคลุกรวมกัน  ห่อด้วยผ้าทำเป็นลูกประคบ  นึ่งด้วยไอความร้อน  และนำไปประคบบริเวณที่ต้องการ


ประโยชน์ที่ได้รับจากการประคบสมุนไพร

1.ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย

2.ช่วยลดอาการบวม  อักเสบของกล้ามเนื้อ

3.ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

4.ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

5.ช่วยให้กล้ามเนื้อ  พังผืดยึดตัวออกและลดอาการปวด 

     




ไทยสัปปายะคืออะไร

    ไทยสัปปายะเป็นวิถีการดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวมอย่างไทย มีการผสมผสานกับหัตถบำบัด วารีบำบัด สุคนธบำบัด โภชนบำบัด การออกกำลังกาย และการทำสมาธิ เพื่อให้เกิดความสมดูลของธาตุเจ้าเรื่อนทั้ง 4 ในร่างกาย ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ พร้อมทั้งเป็นการดูแลสภาพจิตใจให้แข็งแรงควบคุ่ไปกับการดูแลสุภาพเชิงป้องกัน โดยเน้นให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของตนเองและคนในครอบครัว เพื่อให้สามารถป้องกันโรคร้ายแรงและบำบัดโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็ฯกิจกรรม ที่ช่วยเพิ่มความรัก ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้อีกด้วย

    สุขภาพที่ดีนั้น มิได้หมายถึงเพียงการมีสุขภาพร่างกายที่ดีเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ถ้าสุขภาพจิตเสียย่อมนำมาซึ่งสุขภาพร่างกายทีเสื่อมถอยไปด้วย ดังนั้น ไทยสัปปาะย จึงเป็นวิถีทางของการดูแลสุขภาพแบบไทยและถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่ายิ่ง สมควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะคนไทยได้เข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งควรมีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง รวมทั้งต้องมีการพัฒนาด้านมาตรฐาน การวิจัย และเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป

       ไทยสัปปายะ มีลักษณะความเป็นองค์รวมของความสบาย หรือ สภาพทั้ง 7 อย่างที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต ประกอบด้วย
        1. ที่อยู่อาศัยอันสบาย
        2. สิ่งแวดล้อมอันสบาย
        3. ความสบายที่ได้จากบุคลลรอบข้าง
        4. อิริยาบถอันสบาย
        5.อาหารสุขภาพดี
        6. การคมนาคมที่สะดวกสบาย
        7. การได้ยินได้ฟังเสียงที่เกิดจากความสบาย
         กล่าวโดยสรุป ไทยสัปปายะ จึงเป็นสิ่งที่เอื้อและเกื้อหนุนให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต และเป็นองค์ประกอบที่เด่นชัดสำหรับการดูแลสุขภาพ และการดำรงชีวิตแบบองค์รวมที่งดงามตามแบบวิถีไทย และหมายรวมถึง การใช้การแพทย์แผนไทยแบบองค์รวมเพื่อสร้างสุขภาพซึ่งเป็นรูปแบบาการให้บริการที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังส่งเสริมพัฒนาในสถานบริการของรัฐ ประกอบด้วย กิจกรรมต่างๆ เช่น การนวดไทย โภชนบำบัด การทำสมาธิ การออกกำลังกาย การใช้สมุนไพร ฯลฯ

   


     

การนวดประเภทไทยสัปปายะ

        จะขอกล่าวการนวดประเภทนี้โดยละเอียดกว่าประเภทอื่น เพราะเป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดขายให้ต่างชาติต้องมาใช้บริการจากเรา ช่วยนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจ จนสามารถอธิบายได้ดีพอสมควร ถึงความแตกต่าง และประโยชน์ของการนวดแบบไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่

        1. การนวดแบบราชสำนัก หรือการนวดอายุรเวท (แพทย์แผนไทยประยุกต์)
            เป็นการนวดที่ใช้ในพระราชวัง เพื่อถวายกษัตริย์ เจ้านายชั้นสูงของราชสำนัก ดังนั้นท่าต่างๆ จึงต้องสุภาพ และมักนวดโดยใช้นิ้วมือกดลงบนร่างกายเท่านั้น เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป และไม่ให้เป็นที่ล่วงเกินต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ โดยมีข้อปฏิบัติในการนวดที่ค่อนข้างเคร่งครัด เช่น ผู้นวดต้องเดินเข่าเข้าหาผู้ป่วยที่นอนบนพื้น เมื่ออยู่ห่างราว 2 ศอก จึงนั่งพับเพียบและคารวะขออภัยผู้ป่วย จากนั้นจะคลำชีพจรข้อมูลและหลังเท้าข้างเดียวกันเพื่อตรวจดูอาการของโรค ตำแหน่งการวางมือ องศาแขนของผู้นวดที่ทำกับผู้ป่วยและท่าทางต้องกระทำอย่างสุภาพ เน้นที่มือและนิ้ว ดังนั้นมือต้องแข็งแรง
        2. การนวดแบบเชลยศักดิ์
            มีจุดกำเนิดมาจากการนวดเพื่อช่วยเหลือกันเองในครอบครัวของชาวบ้านทั่วไป ดังนั้นหมอนวดจึงใช้อวัยวะอื่นในการนวดนอกจากมือ ได้แก่ ศอก ท่อนแขน ส้นเท้า เป็นต้น ส่วนทาทางการนวดก็มีได้หลากหลายไม่เพียงแต่บีบหรือกดจุดที่ปวดเมื่อยอย่างเดียว ยังมีการยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะท่ายึดกล้ามเนื้อบ่า ที่ผู้มารับบริการมีอาการปวดอยู่บ่อยมาก การดัดกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะตำแหน่งของกระดูกสันหลังระดับเอว  ซึ่งมีอยู่หลายจังหวะทั้งท่านอนหงาย นอนตะแคง แ ละนั่ง และดัดกระดูกสันหลังระดับอก ในท่านั่งและหมอนวดใช้เข่าตนเองยันกลางหลังบริเวณสะบัก รู้จักกันว่าจับเส้น เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยในการนวด เช่น ศอก เข่า เป็นต้น ซึ่งตรงกับหมอแผนปัจจุบันคือการนวด เพื่อเพิ่มหรือส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง
         ปัจจุบันการนวดแผนไทยแบบเชลยศักดิ์เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องกันตามชุมชน ในขณะที่แบบราชนำนักมักหวงวิชา มีการถ่ายทอดกันเฉพาะในครอบครัว นอกจากนี้ผู้บริการจะรู้สึกว่าการนวดแบบเชลยศักดิ์มีแรงมากระทำบนร่างกายได้มากกว่า และมีลีลาท่าทางมากกว่าการนวดแบบราชสำนัก อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ของการนวดไทยทั้ง 2 แบบก็ยังคงความเป็นไทย กล่าวคือ ความสุภาพอ่อนโยน ก่อนนวดและหลังนวด หมอนวดจะต้องยกมือพนมเพื่อไหว้ครู และเพื่อขออภัยหากท่านวดบางท่าไม่เหมาะสม ผู้รับบริการสวมเสื้อผ้าสบาย ไม่มีการให้ถอดเสื้อผ้า และมารยาทของหมอนวดขณะที่ทำการนวดก็ต้องนวดด้วยความสำรวม

 ข้อแตกต่าง

  ราชสำนัก
  เชลยศักดิ์
 
 1.กิริยามารยาท
  เรียบร้อยมาก เดินเข่าเข้าหาผู้รับบริการ ไม่หายใจรดผู้รับบริการ หรือเงยหน้ามากจนเป็นที่เม่เครารพ
  เป็นกันเองกับผู้รับบริการมากกว่า บางคราวจึงอาจดูไม่สำรวมมากนัก
 
 2.การเริ่มนวด
  มักเริ่มนวดตั้งแต่หลังเท้าขึ้นไป
  เริ่มนวดที่ฝ่าเท้า
 
 3.อวัยวะที่ใช้นวด
  เฉพาะมือ นิ้วหัวแม่มือ และปลายนิ้วอื่นๆ
  ใช้ได้ทั้งมือ ศอก ท่อนแขน เข่า เท้า ส้นเท้า
 
 4.ท่าทางของแขน
  ต้องเหยียดตรงเสมอ
  ตรงหรืองอศอกก็ได้
 
 5.การลงน้ำหนัก
  ใช้การกดท่านั้น
  มีทั้งกด และนวดคลึง
 
 6.ท่าของผู้รับบริการ
  มีท่านั่ง นอนหงาย และนอนตะแคงเท่านั้น ไม่มีท่านอนคว่ำเลย
  ตามแบบราชสำนัก แต่มีท่านอนคว่ำด้วย
 
 7.การดัด
  ไม่ใช้
  มีการดัด ดึง ข้อต่อ หลังด้วย
 
 8.ความรู้ทางกายวิภาค
  มีความรู้อย่างดีพอควร
  อาจไม่มีความรู้ดีพอ (แต่ปัจจุบันหลักสูตรที่สอนตามสถาบันต่างๆได้สอดแทรกเพิ่มเติม)
     



การบำบัดด้วยความร้อนเปียก

การใช้ห้องอบไอน้ำ (Steam)
    โดยปกติห้องอบไอน้ำจะมีทั้งห้องเดี่ยวและห้องอบไอน้ำที่สามารถใช้ได้ครั้งละหลายๆ คน อุณหภูมิที่ใช้ในห้องอบไอน้ำจะอยู่ประมาณ 40 - 43 องศาเซลเซียส ห้องอบไอน้ำสามารถใส่สมุนไพรหรือน้ำมันหอมระเหยลงไปได้เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จาการหายใจเข้าไป

        วิธีการใช้ห้องอบไอน้ำ (Steam)
        1.ควรจะมีเวลาที่จะใช้ห้องอบไอน้ำได้อย่างเต็มที่ ไม่รีบร้อนจนเกินไป
        2.หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว ให้อาบน้ำก่อนใช้ห้องอบไอน้ำทุกครั้ง
        3.ควรจะนำเอาผ้าเช็ดตัวเข้าไปในห้องอบไอน้ำทุกครั้ง
        4.การใช้ห้องอบไอน้ำเป็นครั้งแรก อุณหภูมิในห้องอบไอน้ำไม่ควรเกิน 80 - 90 องศาเซลเซียส
        5.อยู่ในห้องอบไอน้ำประมาณ 8 -12 นาที
        6.ถ้ารู้สึกร้อนเกินที่จะทนได้ ให้ออกจากห้องอบไอน้ำ อาบน้ำและพักสักครู่ ควรดื่มน้ำสะอาด เพราะร่างกายเสียน้ำมากขณะที่อยู่ในห้องอบไอน้ำ
       7.สามารถกลับเข้าไปในห้องอบไอน้ำได้อีก เมื่อรู้สึกสบายขึ้น อยู่ในห้องอบไอน้ำอีกประมาณ 8 - 12 นาที
        8.ออกจากห้องอบไอน้ำแล้วอาบน้ำอีกครั้ง
        9.พักสักครู่ รอจนกระทั่งเหงื่อแห้ง ดื่มน้ำสะอาด แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือสามารถทำทรีทเม้นท์อื่นๆ ต่อได้

        ประโยชน์ของการใช้ห้องอบไอน้ำ
        1.เผาผลาญแคลอรี่ในร่างกาย เนื่องจากมีการเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย และร่างกายต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสำหรับการระบายความร้อนในรูปของเหงื่อ เมื่อร่างกายได้รับความร้อนสูง
        2.การทำงานของระบบหัวใจดีขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต อีกทั้งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
        3.ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยลดอาการปวดชั่วคราวของผู้ป่วยโรคข้อและรูมาตอยด์
        4.ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายขับเหงื่อออกมา จะมีสารพิษเช่น สารตะกั่ว สารปรอท ถูกขับออกมาด้วย
        5.ช่วยทำให้ผิวหนังสะอาดขึ้น เพราะเมื่อร่างกายได้รับความร้อน รูขุมขนจะเปิดเป็นการขจัดสิ่งสกปรกออกมา
        6.ทำให้เกิดการผ่อนคลาย คลายเครียด
        7.ช่วยทำให้นอนหลับสบาย
        8.ในทางแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬาใช้การอบไอน้ำร้อนสลับกับการแช่น้ำเย็น สำหรับการฝึกระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
        9.ปลอดภัยกว่าการใช้ห้องอบเซาน่า สำหรับกรณีลูกค้าสูงอายุ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติความดันโลหิตหรือโรคหัวใจ   
   


  

การพอกบำรุงผิวกาย

    การพอกอาจใช้ผลิตภัณฑ์หลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น การพอกสาหร่าย (Seaweed Wrap) ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับของเสียจากร่างกายผ่านรูขุมขน ช่วยให้ระบบต่างๆ ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การพอกตัวด้วยสาหร่ายให้ได้ผลควรทำอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 10 ครั้ง และดูแลเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาสภาวะที่ดีต่อเนื่อง

 


                               

การดูแลผิวหน้า

ลักษณะของผิวหนัง  แบ่งได้เป็น 3 ประเภท
1.ผิวธรรมดา  จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 15-25% เป็นผิวที่มีความละเอียด มีประมาณไขมันที่พอเหมาะมีความชุ่มชื่นและสดใน แต่บริเวณใบหน้าที่เป็นช่วงทีโซน(T-ZONE) ได้แก่ บริเวณ หน้าผาก จมูก และคาง อาจจะมีความมันมากกว่าส่วนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในคนคนเดียวกัน อาจจะมีลักษณะของผิวที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมด้วย
2.ผิวแห้ง  จะมีน้ำเป็ฯส่วนประกอบน้อยกว่างผิวธรรมดา คือมีน้ำอยู่ในเคอราติน(Keratin) น้อยกว่า 10% และอาจจะเกิดจากการที่ต่อมไขมันผลิตไขมันได้น้อย ทำให้ผิวมีการสูญเสียความชื้นออกไปได้ง่าย สังเกตได้ว่าผิวจะดูด้าน ตึง อาจลอกเป็นขุยหรือแตกได้ ผิวเป็นสีซีดมีปริมาณเหงื่อออกน้อย ไวต่อการกระตุ้น รอบปากจะแห้ง ตึง รอบดวงตาจะพบรอยเหี่ยวย่นเล็กๆ
3.ผิวมัน จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณใกล้เคียงกับผิวธรรมดา (15-25%) เพียงแต่มีน้ำมันมากกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไขมันมีการสร้างไขมันมากเกินไป ทำให้เกิดการอุดตันและกลายเป็นสิวได้ง่าย เช่น ในวัยรุ่นซึ่งจะมีการเจริญเติบโต มีการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้มีการกระตุ้นการสร้างต่อมไขมันผิวหน้าจะมีความันและเกิดเป็นสิวได้ง่าย

ผิวหน้า  เป็นอวัยวะที่ได้รับการเอาใจใส่มากเนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนแรกที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ฉะนั้นการดูแลเพื่อให้ผิวหน้าผ่องใส เนียนตา ถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ขั้นตอนพื้นฐานการดูแลผิวหน้าในชีวิตประจำวัน

1.การทำความสะอาดที่ถูกวิธี (Clean)
  เพื่อขจัดสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อุดตันรูขุมขนออกจากผิวหนังให้หมดจด
2.การปรับสภาพผิวหน้าทันที (Tone)
  เพื่อเช็ดคราบความสกปรกที่อาจมีตกค้างให้หมดไป และกระชับรูขุมขนที่ขยายตัวจากการทำความสะอาด
3.การขัดผิว (Scrub or Exfoliation)
  เพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่อุดตันรูขุมขน ด้วยผลิตภัณฑ์ลักษณะหยาบ เช่น เกลือ ฯลฯ ด้วยวิธีการลูบวนเบาๆ ให้ทั่ว ก่อนเช็ดหรือล้างออกจนสะอาดดี
4.การนวดหน้า (Massage)
  การใช้น้ำมันหอมระเหยสกัดจากพืชธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์ที่ร่างกายต้องการมาใช้นวดด้วยวิธีการที่เหมาะกับการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย เพื่อความงามจากภายในสู่ภายนอก
5.การพอกหน้า (Mask)
  การนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น โคลน สาหร่าย ฯลฯ มาพัฒนาเพื่อใช้กับใบหน้า โดยพอกทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที หลังจากทำความสะอาดหมดจด หรือการนวดน้ำมันหอมระเหย เพื่อเสริมคุณสมบัติในการบำรุงผิว ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด
6.การบำรุงผิว (Moisturizer)
  โดยปกติผิวของเราจะมีความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ แต่จะลดน้อยลงตามวัย และผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เช่น มลพิษ และสายลม แสงแดด

                     


       

คันธบำบัด
ความหมายของคำว่า Aromatherapy
Aroma  แปลว่า  กลิ่นหอม
Therapy แปลว่า  การบำบัดรักษาโรค

Aromatherapy  หมายถึง  การนำกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการดูแล

รักษาสุขภาพ  แยกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
Phytotherapy :  ใช้สมุนไพรโดยรวม
Aromatherapy : ใช้เฉพาะกลิ่นหอม (Essential oil)

น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) คือ  น้ำมันที่พืชผลิตขึ้นมาแบบทุติยภูมิ 

เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำให้พืชมีอายุยืนยาวและสืบเผ่าพันธุ์ได้ 
คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหย

ตะไคร้หอม (citronella)  ไล่ยุง / แมลง บรรเทาอาการหวัด  บรรเทาอาการ

ปวดศีรษะ / ไมเกรน  ลดอาการอ่อนเพลีย / ล้ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและดับกลิ่น บรรเทาอาการ

บวม
ยูคาลิปตัส (eucalyptus)  ขับเสมหะแก้ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัด

คัดจมูกหายใจไม่สะดวก  บรรเทาอาการหวัด / ไอ / ลดไข้  บรรเทาอาการปวดศีรษะ  ช่วย

เรื่องความดันต่ำ  บรรเทาอาการกรน
lemon lavender  ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียดปวดเมื่อย
peppermint  ช่วยให้ร่างกายและจิตใจตื่นตัวคลายความล้า ช่วยระบบทางเดินหายใจ
orange grapefruit  ทำให้รู้สึกอบอุ่นสดชื่น และมีชีวิตชีวา

  

                             

วารีบำบัด 

    ธาราบำบัด หรือวารีบำบัด (Hydrotherapy) เป็นการใช้น้ำ นำคุณสมบัติของน้ำมาใช้เพื่อรักษาโรค รักษาอาการเจ็บป่วย มีทั้งแบบใช้น้ำร้อน น้ำเย็น น้ำจืด น้ำแร่ กรรมวิธีการใช้น้ำในการบำบัดให้ได้ประสิทธิภาพต่อร่างกายมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าผ่อนคลายความตึงเครียด เมื่อยล้า จะใช้หลักการแช่น้ำร้อนและเย็นจัดสลับกัน เรียกว่า ใช้ความแตกต่างของอุณหภูมิที่ต่างกันส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกาย ความร้อน ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อและกำจัดของเสียจากร่างกาย ส่วนความเย็นช่วยกระตุ้นเร้าเช่นกัน เส้นเลือดหดตัว ทำให้เกิดความสดชื่น แจ่มใส กระปรี้ประเปร่า เสริมสร้างร่างกาย ทั้งหมดนี้เป็นการรุกเร้ากระตุ้นที่ให้ผลและประโยชน์สืบเนื่องที่แตกต่างกัน
    กล่าวคือ เมื่ออยู่ในที่ร้อนตอนแรก ร่างกายจะตื่นตัวแจ่มใส เส้นเลือดขยายตัว ผิวแดง ชีพจรช้า ประสาทตื่นตัว กล้ามเนื้อตืนตัวกระฉับกระเฉง แต่เมื่ออยู่นานๆ จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ทำให้เส้นเลือดขยายตัวนาน เกิดการคั่งเลือด ความดันต่ำ หน้ามืด เป็นลม ผิวซีด ชีพจรเร็ว กระวนกระวาย ประสาทอ่อนล้า ง่วงซึม กล้ามเนื้ออ่อนล้า กะปรกกะเปลี้ย เงื่องหงอย ดังนั้นความรู้วารีบำบัดที่เป็นสากลจึงแนะนำให้ อบร้อนสลับกับความเย็น โดยวิธีมาตรฐานคือ อบร้อน 3 นาที แล้วสลับลงบ่อน้ำเย็น  2 นาที ทำสลับกัน 3 รอบ เพื่อประโยชน์คือ เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตโนมัติในร่างกาย อันได้แก่ ระบบประสาทอัตโนมัติมีการเร่งรัดและผ่อนคลายสลับกัน ระบบฮอร์โมนมีการกระตุ้นการเผาผลาญอาหารและลดการทำงานสลับกัน ระบบอวัยวะภายในก็มีการเร่งรัดทำงานและผ่อนคลายสลับไปมา เป็นเหตุให้เกิดความว่องไวในกรปรับสภาพร่างกาย แม้แต่ภูมิต้านทานก็เช่นกัน เมื่อเราอบร้อนก็เหมือนการสร้าง"ไข้เทียม" เพื่อหลอก ให้ร่างกายเร่งภูมิต้านทานออกมา เมื่อลงน้ำเย็น เส้นเลือดหดตัวจะบีบไล่เลือดให้หมุนเวียนเข้าสู่ส่วนกลางช่วยให้ภูมิต้านทานหมุนเวียนไปทั่วร่างกายดีขึ้น
  

                     


        

ประโยชน์ของการนวด
  - ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  - เพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
  - กระตุ้นระบบประสาท
  - เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ
  - ฟื้นฟูสภาพของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท
  - ทำให้รู้สึกสบายคลายเครียด

  
 
ข้อควรระวังในการนวด
  - ไม่ควรนวดหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ทำได้หลัง 30 นาที
  - ไม่นวดเมื่อมีอาการฟกช้ำตามผิวหนัง หรือมีอาการอักเสบซ้ำซ้อน
  - กรณีผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัด

ระวัง และบอกประวัติแก่หมอนวด
  - เมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อ คือ มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ปวด บวม แดงร้อน ไม่

ควรจะนวด
  - ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ ควรได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นและตรวจวินิจฉัยภาวะแทรก

ซ้อนต่าง ๆ หากเกินความสามารถควรประสานความร่วมมือกับแพทย์
     แผนปัจจุบัน
  
 
ข้อห้ามในการนวด
  - มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  - ไข้พิษ ไข้กาฬ อีสุกอีใส งูสวัด เริม
  - โรคผิวหนัง
  - โรคติดต่อ เช่น วัณโรค โรคเอดส์
  
 
ข้อควรปฏิบัติหลังการนวด
  1. งดอาหารแสลง เช่น อาหารมัน อาหารทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เบียร์
ของหมักดอง
  2. ห้ามสลัด บีบ ดัด ส่วนที่มีอาการปวด
  3.ให้ออกกำลังกายเฉพาะโรคและอาการตามคำแนะนำ



บทสรุปการนวดเพื่อสุขภาพ       

    การนวดไม่ใช่เพื่อรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีคุณค่าต่อสุขภาพ เป็นกระบวนการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีศิลปะ มีหลักการ ระหว่างผู้ให้บริการ (หมอนวด) และผู้รับบริการ การนวดจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ

    การนวดไทย จึงเป็นเสน่ห์ไทย ที่ได้รับการยอมรับจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน กระแสสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและบำบัดอาการด้วยวิธีการทางธรรมชาติมากขึ้น การนวดไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถผ่อนคลายบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายกลุ่มอาการโรค จึงมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการนวดไทยอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการ มุ่งเน้นด้านทักษะสู่ความเป็นเลิศ 

 


                             

หนังศีรษะและเส้นผม

หนังศีรษะ

มีโครงสร้างเช่นเดียวกับผิวหนังทั่วร่างกายเรา แต่มีลักษณะที่ต่างกันคือ
- มีรูขุมขน ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันมากกว่าบริเวณอื่น
- มีลักษณะเส้นขน(ผม) ที่แข็งแรงและใหญ่กว่าเส้นขนส่วนอื่นของร่างกาย
- เป็นส่วนผิวหนังบางๆ ที่ห่อหุ้มกะโหลกศีระษะมีชั้นกล้ามเนื้อ และชั้นไขมันเพียงบางๆ
        การมีรูขุมขนมาก ก็มีต่อมไขมันมากตามไปด้วย และการทำงานของทุกส่วนจะเป็นกลไกอัตโนมัติสัมพันธ์กันทั้งสิ้น

เส้นผม
    คือส่วนของโปรตีนเจริญเติบโตออกมานอกผิวหนัง และยังคงต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โครงสร้างของเส้นผมแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ แกนกลาง เส้นผมชั้นใน และชั้นนอก ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ซึ่งเมื่อได้รับความร้อนหรือสารเคมีก็จะเกิดปฏิกิริยา เกล็ดผมจะถูกทำงายเปิดออกและเปลี่ยนสภาพ แห้งกรอบ พันกัน

การดูแลหนังศีรษะและเส้นผม

1.สระทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัย ด้วยวิธีที่ถูกต้อง
2.บำรุงเส้นผม
3.กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดใต้ผิวหนัง
4.ปรับสภาพการทำงานของต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ
5.เลี่ยงการทำลายเส้นผมนานาประการ

ประโยชน์ของการสระผม

- เพื่อทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ
- เพื่อให้รูขุมขนได้รับออกซิเจน
- เพื่อให้เกิดการไหลเวียนโลหิตดี

แชมพู
- มีคุณสมบัติของด่าง ช่วยเปิดเกล็ดผมเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก

ครีมบำรุงหลังสระผม (Conditioner)
- มีคุณสมบัติของกรด ช่วยปิดเกล็ดผมหลังสระผมสะอาดแล้ว บางชนิดมีส่วนผสมของโปรตีนและอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพแก่เส้นผม ให้ความลื่นและเงางาม และเน้นการใช้เฉพาะกับเส้นผมเท่านั้น

วิธีการสระผมที่ถูกสุขลักษณะ
- ไม่ใช้เล็บเกาหนังศีรษะ
-ไม่ขยี้ผมในลักษณะซักผ้าหรือทำให้ส้นผมเกิดการเสียดสีกัน
- ไม่หมุนวนเส้นฟมกับหนังศีรษะ
- ใช้ปลายนิ้ว นิ้ว และฝ่ามือ สระทำความสะอาดและนวดจนทั่วศีรษะ
- นวดขณะสระถูด้วยปลายนิ้วทำความสะอาดเพื่อให้แขมพูได้ทำงานทั่วถึง
- ล้างน้ำถูด้วยปลายนิ้วจนสะอาดทั่วบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม
- ใส่ครีมบำรุงที่เส้นผมให้ทั่ว ทิ้งไว้ 2-3 นาที ก่อนล้างออกจนสะอาด

  
                              

น้ำมันหอมระเหย

citronella ตะไคร้
ขับไล่แมลง มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและดับกลิ่น บรรเทาอาการบวม

ยูคาลิปตัส eucalyptus
ขับเสมหะแก้ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูกหายใจไม่สะดวก

lemon lavender
ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียดปวดเมื่อย

peppermint
ช่วยให้ร่างกายและจิตใจตื่นตัวคลายความล้า ช่วยระบบทางเดินหายใจ

orange grapefruit
ทำให้รู้สึกอบอุ่นสดชื่น และมีชีวิตชีวา

 

                               

ธาตุ 4

ดิน

       ลักษณะผู้ที่มีธาตุดินมาก
       จะมีสภาพร่างกาย แข็งแรงบึกบึน กล้ามเนื้อ และกระดูกต่างๆ จะแข็งแรง ผิวหนังจะค่อนข้างหยาบกระด้าง
       พฤติกรรม
       ชอบความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ค่อนข้างทระนง ถือตัว ชอบขันอาสารับภาระแก่ผู้อื่น ชอบทำตนเป็นผู้นำ
       อารมณ์และนิสัย
       มีความอดทน มั่นคง มีน้ำใจกว้างขวาง รู้จักวางตน ไม่ค่อยอ่อนไหวต่ออารมณ์ต่างๆ นัก มีความความกล้าหาญ
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคท้องผูก ระบบย่อยอาหารไม่ค่อยปกติ ท้องอืดท้องเฟ้อ ความดันต่ำ ไขมันอุดตัน หินปูนเกาะกระดูก ปวดตามข้อ เส้นเลือดตีบ โรคหัวใจ ไต ชักกระตุก
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุดิน
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       - คนเกิดปีจอ (หมา) และปีฉลู (วัว)
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ส่วนใหญ่จะเป็นวันพฤหัสบดี และ วันศุกร์
      - ลักษณะรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
      - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น


น้ำ

       ลักษณะผู้ที่มีธาตุน้ำมาก
       จะมีรูปร่างท้วมสมส่วน ผิวพรรณผ่องใส เส้นผมและขนจะมันเป็นเงาโดยธรรมชาติ ฟันและเล็บมือเล็บเท้าจะขาวอมชมพูเป็นเงางาม ริมฝีปากจะมีสีสดตลอดเวลา แววตาจะดูแวววาว น้ำเสียงจะก้องกังวาน เนื้อตัวจะเย็น ที่มีคำพูดว่าพ่อเนื้อเย็นแม่เนื้อเย็น
       พฤติกรรม
       เป็นคนเยือกเย็น มีเหตุมีผล นิยมชมชอบคบค้าสมาคมแก่คนทั้งหลาย มีอัธยาศัยชอบวางตัว เป็นผู้ใหญ่เกินวัย มีผู้คนนับหน้าถือตา ขยันขันแข็ง
       อารมณ์และนิสัย
       รักสวยรักงาม รักหน้าตา มีจิตเมตตา โอบอ้อมอารี มีปกติ มักติดในอารมณ์ใดๆ ได้ง่าย เป็นประเภทพวกรักง่ายหน่ายเร็ว ฉลาดเอาตัวรอดได้ ชื่นชอบธรรมชาติ และดอกไม้
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคภูมิแพ้ โรคหวัด โรคติดเชื้อต่างๆ แผลพุพองที่เรียกว่าน้ำเหลืองเสีย น้ำหนองไหล ปอดชื้น น้ำท่วมปอด โรคไตวายฉับพลัน โลหิตจาง เลือดออกตามไรฟัน และโรคอ้วน
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุน้ำ
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       - คนเกิดปีชวด (หนู) และปีกุน (หมู)
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ผู้ที่เกิดในวันพุธ ส่วนใหญ่จะเป็นธาตุน้ำ
       - ลักษณะตามรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น


ลม

       ลักษณะผู้ที่มีธาตุลมมาก
       จะมีรูปร่างสูงโปร่ง ไม่อ้วน ผมและขนตามตัวจะแห้งกรอบ ผิวหนังแห้ง กระด้าง เล็บกระดูกฟันเปราะกรอบ สีจะขาวซีด ดวงตาจะพร่ามัวเพราะมีลมออกจากกระบอกตามาก
       พฤติกรรม
       ทำอะไรหุนหัน เรียกว่าโกรธง่ายแต่หายเร็ว ทะเยอทะยาน มีความหยิ่งทระนงที่ถนัดคือยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านตั้งวงนินทา เป็นคนช่างประจบเลยทำให้ดูเหมือนมีสังคมกว้างเข้ากับคนอื่นได้ง่ายแต่ก็โดนคนอื่นทิ้งได้ง่าย เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยเรียบร้อย
       อารมณ์และนิสัย
       เป็นคนเจ้าอารมณ์ ชอบเพ้อฝัน มีนิสัยค่อนข้างอิจฉาริษยา บางขณะก็มีน้ำใจจนท่วมท้น ทำให้คนอยู่ใกล้อึดอัด บางขณะก็ดูหฤโหด โกรธรุนแรง มีความหลงต่ออารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย จนถูกหลอกเป็นประจำ ถึงกระนั้นก็ยังพอจะมีปฏิภาณเอาตัวรอดได้ เป็นผู้มีความคิดที่ใครๆ ก็จะคาดเดาลำบาก
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคกระดูกเปราะ โรคน้ำตาแห้ง โรคตาต่างๆ โรคลมจุกเสียด โรคลมดันหัวใจ โรคนอนกรน โรคผอมแห้งแรงน้อย โรคปวดหัววิงเวียนศีรษะ โรคท้องอืดท้องเฟ้อ โรคอ่อนเพลีย
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุลม
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       - คนเกิดปีเถาะ (กระต่าย) ปีมะเมีย (ม้า) ปีมะแม (แพะ) ปีวอก (ลิง)
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ส่วนใหญ่จะเป็นคนเกิดวันศุกร์ และวันพุธ
       - ลักษณะรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น


ไฟ

       ลักษณะผู้ที่มีธาตุไฟมาก
       จะมีรูปร่างผอมคล้ำ ผิวหนักตกกระ ไฝฝ้าจะขึ้นกระจายไปทั่ว ผมและขนจะแห้งแตกปลายและจะเบาบาง ตามลำตัวจะมีไอร้อนมากกว่าธาตุอื่นๆ สีหน้า และแววตาจะหมองคล้ำ เล็บและฟันจะไม่เป็นเงางาม กล้ามเนื้อจะไม่ค่อยแข็งแรง เซลล์ในกระดูกจะเกาะตัวกันอย่างหลวมๆ กลิ่นตัวรุนแรง
       พฤติกรรม
       เป็นคนซื่อตรง พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่จะเสียเพราะคำพูด ทำอะไรชอบทำให้ดูใหญ่โต เรียกว่าฉิบหายไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง เป็นเจ้าบุญทุ่มพอสมควร แต่มิค่อยมีคนชอบ ชอบอวดดีทั้งที่ไม่มีดีให้อวด
       อารมณ์และนิสัย
       เป็นคนอารมณ์รุนแรง โกรธรุนแรง หงุดหงิดง่าย เวลาทำอะไรมิค่อยคิด มีนิสัยชอบผูกพยาบาท ชอบคิดอยู่เสมอว่าเราเคยมีบุญคุณกับคนอื่น คนอื่นก็ต้องตอบแทนเรา
       โรคที่มักจะเป็น
       ท้องผูก ริดสีดวง ความดันสูง เส้นโลหิตเปราะบาง ปวดศีรษะ โรคไต โรคกระษัย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย วิตกกังวล เบื่ออาหาร โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ ร้อนใน โรคกระเพาะ กระดูกเสื่อมเร็วก่อนวัย หงุดหงิดง่าย ใจสั่น แผลพุพอง น้ำเหลืองเสีย เลือดเป็นพิษ โรคเลือดลักปิดลักเปิด
        ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุไฟ
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       - คนเกิดปีขาล (เสือ) ปีมะโรง (งูใหญ่) ปีมะเส็ง (งูเล็ก) ปีระกา (ไก่)
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ผู้ที่เกิดในวันอาทิตย์ วันอังคาร วันเสาร์ ส่วนใหญ่จะเป็นธาตุไฟ
       - ลักษณะตามรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น

                               

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 19,797 Today: 9 PageView/Month: 64

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...